วันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2562

#เปิดโปงพระเก๊นาดูน ตอนที่ 5

          เรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นมาของพระเก๊นาดูนได้ส่งกลิ่นเหม็นเน่าฉาวโฉ่และเป็นเรื่องตลกโปกฮาปาหี่ไปทั่วทั้งวงการพระเครื่องเมืองไทยมาได้สักระยะเวลาหนึ่งแล้ว การอุตริอุปโลกน์พิมพ์พระต่างๆไม่ว่าจะเป็น พิมพ์พระสมเด็จนาดูน พิมพ์ฤาษีนาดูน พิมพ์พระพิฆเนศนาดูน พิมพ์พระนารายณ์ทรงปืนนาดูน พิมพ์พระร่วงรางปืนนาดูน พิมพ์พระร่วงนาดูน ตะกรุดนาดูน ลูกปะคำนาดูน และพิมพ์อื่นๆอีกสารพัด พิมพ์พระเหล่านี้ล้วนเป็นศิลปะหลงยุคหลงสมัยอย่างแท้จริ เป็นการจับฉ่าย ตัดต่อ แต่งเติม ยำละเลงข้อมูลมาผสมปนเปเข้าด้วยกัน โดยที่ไม่ได้อ้างอิงถึงเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของศิลปะในยุคสมัยและแหล่งอารยธรรมต่างๆที่ถูกต้องอย่างแท้จริง ทำให้คนที่ไม่มีความรู้เรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และโบราณคดีมาก่อน เสียหลักหลงทางและมีความเข้าใจที่ผิดๆคิดว่าศิลปะของพระพิมพ์พระเครื่องเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยทวารวดี ถ้าหากศึกษา "ศิลปะทวารวดี" ตามหลักฐานของโบราณวัตถุที่กรมศิลปากรค้นพบในแหล่งอารยธรรมโบราณคดีต่างๆจะทำให้เราเข้าใจในรายละเอียดของเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของศิลปะได้เป็นอย่างดีว่าเป็นอย่างไร
     จตุคามรามเทพเป็นอีกหนึ่งในพระพิมพ์พระเครื่องที่ถูกอุตริอุปโลกน์ขึ้นมาว่ามีการขุดพบในกรุพระธาตุนาดูนพร้อมกับพระบรมสารีริกธาตุเมื่อปี 2522 ในเขตพื้นที่ของอำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม โดยอุตริอุปโลกน์เรียกขานกันว่า "ลูกสะบ้านาดูน" เมื่อมีตรวจสอบรายละเอียดต่างๆพบว่า "ลูกสะบ้านาดูน" มีลักษณะลอกเลียนแบบมาจากพิมพ์จตุคามรามเทพ รุ่นราชันย์ดำ รุ่นโคตรเศรษฐี รุ่นเก้าหน้า มหาโชคมหาเศรษฐี ซึ่งผู้ออกแบบจตุคามรามเทพรุ่นราชันย์ดำและรุ่นโคตรเศรษฐี คือช่างเม้า ประชา สมจิตร ออกแบบขึ้นในช่วงประมาณปี 2549 ที่ผ่านมา 10 กว่าปีนี้เอง
     ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่ค้นพบปรากฏว่า สมัยศรีวิชัยพุทธศาสนาที่เจริญรุ่งเรืองในอาณาจักรศรีวิชัยเป็นพุทธศาสนาแบบมหานิกาย มีพุทธศิลป์ที่มีชื่อเสียง คือ มหาเจดีย์บุโรบุโดที่เกาะชวา และเจดีย์พระบรมธาตุไชยา จ.สุราษฎร์ธานี นอกจากนี้ยังมี พระอวโลกิเตศวรและพิมพ์พระเล็กๆ เป็นรูปของอวโลกิเตศวรด้วย ส่วน จ. ตรัง อยู่ที่ถ้ำเขาวิหาร มีกรุบรรจุพระพิมพ์เล็กๆเป็นศิลป์แบบปาละ จ. พัทลุง อยู่ที่ถ้ำคูหาสวรรค์ เขาอกทะลุ จ. ยะลา อยู่ที่ถ้ำเขาตระเภา ทั้ง 3 จังหวัดสุดท้ายนี้ ซึ่งล้วนเป็นคตินิยมของมหายาน ส่วนมากค้นพบเฉพาะพระพิมพ์เล็กๆและรูปแกะสลักเล็กๆเท่านั้น ซึ่งพระพิมพ์เล็กๆที่ค้นพบส่วนใหญ่เป็นดินดิบที่ทำขึ้นตามประเพณีของลัทธิมหายาน คือ เมื่อเผาศพพระเถระแล้วเอาอัฐธาตุโขลกเคล้ากับดินแล้วพิมพ์เป็นพระพุทธรูปหรือรูปพระโพธิสัตว์ เพื่อประสงค์ปรมัตถประโยชน์แก่ผู้มรณภาพ อัฐธาตุนั้นเผามาครั้งหนึ่งแล้วจึงไม่เผาอีก มิใช่ทำเพื่อหวังจะสืบอายุพระพุทธศาสนา อีกทั้งยังได้พบวัตถุโบราณและพระพุทธรูปกระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ นับแต่สุราษฎร์ธานี จ.ปัตตานีและไทรบุรี ที่นครศรีธรรมราชได้พบจารึกที่วัดเสมาเมือง บรรยายถึงพระจริยาวัตรที่ประกอบด้วยคุณธรรม (ตามแนวมหายาน) พูดถึงการสร้างปราสาท 3 หลัง และการสร้างพระสถูป 3 องค์ เป็นต้น
พุทธศาสนาแบบมหานิกายในสมัยศรีวิชัย ไม่สามารถแผ่ขยายอิทธิพลเลยสุราษฎร์ธานีขึ้นมาได้ เพราะเวลานั้นเหนือขึ้นมาเป็นเขตอิทธิพลของพุทธศาสนาแบบเถรวาทหรือหินยาน ซึ่งคติความเชื่อในพุทธศาสนาแบบมหายานกับเถรวาทนั้นแตกต่างกัน ดังนั้นศิลปะพระพิมพ์พระเครื่องก็แตกต่างกันตามคติความเชื่อของแต่ละนิกาย ฝ่ายเถรวาทสร้างพระพิมพ์พระเครื่องเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา ส่วนฝ่ายมหายานสร้างพระพิมพ์พระเครื่อง เพื่อปรมัตถประโยชน์แก่ผู้มรณภาพ โดยต้องการเป็นพระโพธิสัตว์
ในเมื่ออิทธิพลของพุทธศาสนาแบบมหายานไม่สามารถแผ่อิทธิพลขึ้นมาทางเหนือได้ ดังนั้นการสร้างพระพิมพ์พระเครื่อง ตามคติความเชื่อแบบมหายานซึ่งเป็น "ศิลปะศรีวิชัย" จึงไม่สามารถแผ่อิทธิพล มายังอาณาจักรต่างๆทางภาคอีสานในสมัยทวารวดีได้
     การกล่าวอ้างว่ามีการค้นพบพระพิมพ์โพธิสัตว์นาดูนหรือ "ลูกสะบ้านาดูน" ซึ่งเป็นคติความเชื่อในพุทธศาสนาแบบมหานิกายจึงเป็นการอุตริอุปโลกน์ขึ้นมาเองทั้งสิ้น เพราะดินแดนสุวรรณภูมิแถบภาคอีสานในสมัยทวารวดีนับถือพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทหรือหินยานมาแต่ดั้งเดิม
     ข้อมูลหลักฐานทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีปรากฏอย่างชัดเจนแล้วว่าศิลปะแต่ละยุคสมัยในแหล่งอารยธรรมของแต่ละท้องถิ่นบ่งบอกเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของพระพิมพ์พระเครื่องไว้อย่างชัดเจน การอ้างหลักฐานใดๆที่ไม่สอดคล้องกับหลักฐานเดิมที่ปรากฏอยู่แล้ว จึงเป็นการศึกษาแบบมโนจินตนาการ ทั้งสิ้น


ผู้เรียบเรียง เศรษฐศาสตร์ อินทรพานิชย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น