วันพุธที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2562

#เปิดโปงพระเก๊นาดูน ตอนที่ 3



ศิลปะหลงยุคหลงสมัย พระสมเด็จนาดูน จตุคามนาดูน พระพิฆเนศนาดูน ฤาษีนาดูน พระร่วงรางปืนนาดูน เก๊อุปโลกน์ พระเครื่องมีความเป็นมาและวิวัฒนาการอันยาวนาน ก่อนจะมาเป็นพระเครื่องนั้นได้เกิดพระพิมพ์ขึ้นมาก่อน เมื่อบริบททางสังคมเปลี่ยนไป คติการสร้างพระพิมพ์ก็เปลี่ยนแปลงไปและเลือนหายไปในที่สุด พระพิมพ์บางส่วนกลายมาเป็นพระเครื่อง พระพิมพ์เป็นของเก่าแก่ที่ได้มีผู้ทำขึ้นตั้งแต่ตอนต้นพุทธศาสนา มีต้นกำเนิดอยู่ที่ประเทศอินเดีย การแผ่ขยายอิทธิพลทางพุทธศาสนาไปสู่ภูมิภาคต่างๆทำให้พระพิมพ์ซึ่งเป็นประติมากรรมเนื่องในคติทางพุทธศาสนาได้แผ่กระจายไปยังดินแดนต่างๆพร้อมกับคำสอน ความเชื่อทางพุทธศาสนา พระธาตุและพระบรมสารีริกธาตุ รวมถึงวัตถุเนื่องในพุทธศาสนาด้วย พุทธศาสนาเข้ามาสู่ประเทศไทยราวสมัยทวารวดีพร้อมกับความเชื่อเรื่องการสร้างพระพิมพ์ในสมัยทวารวดีได้รับเอาคติความเชื่อของชาวอินเดียเข้ามาโดยตรงส่งผลให้การสร้างพระพิมพ์ในสมัยทวารวดีมีวัตถุประสงค์การสร้างเหมือนกับอินเดีย คือการสร้างพระพิมพ์เพื่อสืบพระศาสนาซึ่งเป็นความเชื่อที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่อง "ปัญจอันตรธาน" ซึ่งปรากฏในคัมภีร์พุทธศาสนา เมื่อพุทธศาสนาแผ่ไปยังพื้นที่ต่างๆของประเทศไทย ความเชื่อเรื่องการสร้างพระพิมพ์ก็เปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยต่างๆแต่ละพื้นที่ อาทิ พุทธศาสนาสมัยศรีวิชัยได้รับอิทธิพลของพุทธศาสนานิกายมหายานที่มีความเชื่อเรื่องการบำเพ็ญบุญเพื่อเป็นพระโพธิสัตว์ ส่งผลให้การสร้างพระพิมพ์ในสมัยศรีวิชัยจากที่สร้างพระพิมพ์เพื่อสืบพระศาสนาเปลี่ยนแปลงไปสู่การสร้างเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตายและเป็นการสะสมบุญเพื่อเป็นพระโพธิสัตว์ในภายหน้า เป็นต้น ในสมัยอยุธยาเริ่มมีการสร้างพระพิมพ์เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคล ความศักดิ์สิทธิ์และดลบันดาลให้เกิดอานุภาพต่างๆสำหรับพกเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจเวลาไปสงครามแทนการพกเครื่องรางแบบเก่า เช่น ผ้าประเจียด (ผ้ายันต์ที่ใช้ผูกแขนหรือคล้องคอ) ตะกรุด พิสมร เป็นต้น ต่อมาในสมัยต้นรัตนโกสินทร์เกิดการเปลี่ยนแนวคิดทางพุทธศาสนา อีกทั้งได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมและวิทยาการจากชาติตะวันตก การสร้างพระพิมพ์เพื่อใช้เป็นเครื่องรางของขลังได้รับความนิยมมากขึ้น พระพิมพ์ที่สร้างเพื่อความเชื่อและความศรัทธาในพุทธคุณด้านต่างๆ เหล่านี้เรียกว่า “พระเครื่อง” ศิลปะของพระพิมพ์พระเครื่องในแต่ละยุคสมัยมีความแตกต่างกันในเอกลักษณ์และอัตลักษณ์อย่างสิ้นเชิง พระพิมพ์พระเครื่องจะเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของสังคม ดังนั้นการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวพระพิมพ์พระเครื่องด้วยการนำเอาศิลปะของแต่ละยุคสมัยมาจับฉ่ายยำละเลงเข้าด้วยกัน โดยไม่คำนึงถึงเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของศิลปะในยุคสมัยที่มีปรากฎอยู่อย่างชัดเจนมาประกอบการศึกษาเรียนรู้ ยกตัวอย่าง เช่น พิม์พระสมเด็จนาดูน(พระเก๊) พิมพ์จตุคามรามเทพนาดูน(พระเก๊) พระพิฆเนศนาดูน(เก๊) พิมพ์ฤาษีนาดูน(เก๊) พิมพ์นารายณ์ทรงปืนนาดูน(เก๊) พิมพ์พระร่วงนาดูน(เก๊) พระพิมพ์พระเครื่องเหล่านี้ที่อ้างว่าเป็นพิมพ์พระของพระกรุนาดูนเป็นการอุปโลกน์ขึ้นมาเองทั้งสิ้น เป็นการบิดเบือนหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีของศิลปะแห่งยุคสมัยต่างๆอย่างแท้จริง ผู้เรียบเรียง : เศรษฐศาสตร์ อินทรพานิชย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น