เก๊เกลื่อนสนามพระ เก๊เหนือ เก๊อีสาน เก๊ใต้ เก๊กลาง เก๊ตะวันออก เก๊ตะวันตก เก๊สามโลก เก๊ยันต่างดาว เก๊ยันโลกแตก
ไขประเด็นข้อสงสัยเกี่ยวกับกระบวนการตรวจสอบพระกรุนาดูนเก๊ที่มีกล่าวอ้างว่าผ่านการตรวจสอบโดยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าตัวอย่างพระนาดูนเก๊ที่ผ่านการตรวจสอบแล้วจะกลายเป็นพระกรุนาดูนแท้ได้ ซึ่งประเด็นนี้มีการไขข้อสงสัยในเทคนิคการตรวจสอบ 3 วิธีการดังนี้
เทคนิควิธีการตรวจสอบที่ 1 ตรวจสอบด้วยเครื่องมือวิทยาศาสตร์ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า SEM-EDS/EDX โดยนักศึกษาภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในหัวข้อปัญหาพิเศษเรื่อง "การศึกษาคุณสมบัติเฉพาะของพระกรุนาดูน จังหวัดมหาสารคาม"
เทคนิคการตรวจสอบทั้ง 3 วิธีการเป็นการนำเอาเครื่องมือและเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ขั้นสูงมาใช้ในการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างวัตถุ ดังนั้นเราทุกคนจึงจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจพื้นฐานมากพอสมควรเกี่ยวกับเรื่องของวิทยาศาสตร์ รู้จักหลักการของวิธีการใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์และจุดประสงค์ของเทคนิคต่างๆที่นำใช้ตรวจสอบตัวอย่างวัตถุอย่างถูกต้องเสียก่อน มิฉะนั้นก็จะทำให้เราเข้าใจเกี่ยวกับผลการทดลองอย่างผิดๆแล้วนำมาอธิบายให้คนอื่นฟังอย่างผิดๆถูกๆบิดเบือนประเด็นและหลักการที่ถูกต้อง
เจาะลึกทุกประเด็นและไขข้อสงสัยเกี่ยวกับเทคนิคต่างๆที่ใช้ตรวจสอบตัวอย่างวัตถุในเอกสารใบรายงานต่างๆดังนี้
1. ตรวจสอบโดยเครื่อง SEM-EDS/EDX ตัวอย่างที่นำมาทดลองได้จากคุณหมอท่านหนึ่ง ซึ่งแจ้งต่อผู้ทำการทดลองว่า ตัวอย่างชุดแรกเป็นพระกรุนาดูนแท้และตัวอย่างอีกชุดเป็นของทำเลียนแบบพระกรุนาดูน
จากภาพตัวอย่างในรายงานปัญหาพิเศษฉบับนี้ปรากฎว่าตัวอย่างทั้ง 2 ชุด ที่นำมาทดลองในครั้งนี้ไม่ใช่พระกรุนาดูนที่มีลักษณะทางกายภาพเช่นเดียวกับพระกรุนาดูนที่ค้นพบพร้อมกับพระบรมสารีริกธาตุเมื่อปี 2522 แตกต่างจากตัวอย่างพระกรุนาดูนที่กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุที่มีการจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดขอนแก่น อย่างสิ้นเชิง
จึงสรุปเบื้องต้นได้ว่าผู้ทำการทดลองในหัวข้อปัญหาพิเศษเรื่อง "การศึกษาคุณสมบัติเฉพาะของพระกรุนาดูน จังหวัดมหาสารคาม" ไม่เคยมีความรู้เกี่ยวกับความจริงหลักฐานทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีของพระกรุนาดูนมาก่อนเลยแม้แต่นิดเดียว ข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับตัวอย่างได้มาจากคุณหมอผู้ที่นำตัวอย่างมาให้นักศึกษาทำการทดลองเพียงด้านเดียวเท่านั้น ผู้ทำการทดองไม่เคยมีการศึกษาและไม่เคยนำตัวอย่างทั้งสองชุดไปเปรียบเทียบกับตัวอย่างพระกรุนาดูนแท้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแต่อย่างใด
เมื่อนำตัวอย่างทดลองทั้ง 2 ชุดมาตรวจวิเคราะห์ด้วยเครื่อง SEM-EDS/EDX เพื่อวิเคราะห์หาชนิดกับปริมาณของแร่ธาตุและโครงสร้างลักษณะทางกายภาพของตัวอย่างด้วยกล้องขยายกําลังสูง นำผลทดลองที่ได้มาเปรียบเทียบกัน แล้วสรุปตัวอย่างทั้ง 2 ชุดว่ามีความแตกต่างกันของแร่ธาตุอย่างไร
การทดลองเป็นไปตามหลักการและทฤษฎีของการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างวัตถุโดยใช้เครื่อง SEM-EDS/EDX ทุกประการ แต่ตัวอย่างที่นำมาทดลองเท่านั้นที่ไม่ถูกต้องตามหลักการ เพราะตัวอย่างทั้ง 2 ชุดที่ได้จากคุณหมอไม่ใช่พระกรุนาดูนแท้ที่ถูกต้องตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่ขุดพบเมื่อปี 2522 ตัวอย่างที่นำมาทดลองเป็นเพียงวัตถุหรือของทำเลียนแบบพระกรุนาดูนเท่านั้น
ดังนั้นจึงสรุปผลการทดลองได้ว่าปัญหาพิเศษเรื่อง "การศึกษาคุณสมบัติเฉพาะของพระกรุนาดูน จังหวัดมหาสารคาม" ของนักศึกษาท่านนี้ไม่สามารถนำมาใช้อ้างอิงเป็นข้อมูลเชิงวิชาการในการศึกษาเกี่ยวกับพระกรุนาดูนได้แต่อย่างใด แต่ปัญหาพิเศษฉบับนี้สามารถนำมาใช้อธิบายหลักการเกี่ยวกับใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่เรียกว่า SEM-ES/EDX ได้เป็นอย่างดีและการทดลองของนักศึกษาในครั้งนี้เป็นเพียงการทำรายงานปัญหาพิเศษของเด็กนักศึกษามหาวิทยาลัยไม่ใช่เป็นการทำวิทยานิพนธ์หรือเป็นผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แต่อย่างใด
2.ตรวจสอบด้วยเทคนิค Thermoluminescence จากภาพในเอกสารปรากฏว่าตัวอย่างที่นำใช้ทดลองด้วยเทคนิคนี้ไม่ใช่ตัวอย่างวัตถุที่อ้างว่าเป็นพระกรุนาดูน(พระเก๊) ภาพในใบรายงานการทดลองเป็นเพียงเศษชิ้นส่วนของภาชนะที่แตกหัก ซึ่งสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในเขตพื้นที่ของ อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม การนำตัวอย่างดังกล่าวไปตรวจสอบแล้วนำมาอนุมานเป็นอายุของตัวอย่างพระเก๊ ไม่สามารถสรุปได้ว่าผลการทดลองที่ได้เป็นอายุของตัวอย่างวัตถุที่อ้างว่าเป็นพระกรุนาดูน (พระเก๊) อย่างแน่นอน
ดังนั้นรายงานเอกสารที่นำแสดงในประเด็นนี้ สรุปผลการทดลองได้ว่าตัวอย่างที่ผ่านการทดสอบด้วยเทคนิค Thermoluminescence ไม่สามารถนำมาใช้อ้างอิงเป็นข้อมูลเชิงวิชาการในการศึกษาเกี่ยวกับพระกรุนาดูนได้แต่อย่างใด
3.ตรวจสอบด้วยเทคนิคการใช้เครื่อง X-ray Fluorescenc โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เทคนิคและเครื่องมือดังกล่าวเป็นเพียงการตรวจวิเคราะห์หาชนิดและปริมาณของแร่ธาตุในตัวอย่างของวัตถุเท่านั้น ผลการทดลองไม่สามารถพิสูจน์ตัวอย่างวัตถุ(พระเก๊)ได้ว่าเป็นพระกรุนาดูนแท้ เพราะว่าธาตุเป็นองค์ประกอบของวัตถุทุกชนิดในโลกนี้
ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าตัวอย่างที่ผ่านการตรวจวิเคราะห์หาชนิดและปริมาณของแร่ธาตุในใบรายงานฉบับนี้ไม่สามารถนำมาใช้อ้างอิงเป็นข้อมูลเชิงวิชาการในการศึกษาเกี่ยวกับพระกรุนาดูนได้แต่อย่างใด
ไขประเด็นข้อสงสัยเกี่ยวกับการตรวจสอบตัวอย่างวัตถุ(พระเก๊)ที่อ้างว่าเป็นพระกรุนาดูนอย่างละเอียด หลายคนที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์อาจจะยังมีข้อสงสัยอยู่หลายประการ
สรุปให้เข้าใจง่ายๆก็คือก่อนจะเราจะนำตัวอย่างวัตถุใดๆไปตรวจสอบด้วยเครื่องมือหรือกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ขั้นสูง เราต้องเข้าใจความรู้พื้นฐานและหลักการเบื้องต้นดังนี้
1.ตัวอย่างที่จะนำไปตรวจวิเคราะห์ต้องรู้ว่าเป็นอะไร ถ้าไม่รู้ ไม่มั่น ไม่แน่ใจ ก็ไม่ต้องระบุว่าวัตถุชนิดนั้นคืออะไร ไม่ใช่ว่าเอาตัวอย่างพระเก๊ไปตรวจสอบ แต่กลับอ้างว่าเป็นพระแท้ เมื่อตรวจตามกระบวนการแล้วก็สรุปเอาเองว่าตัวอย่างพระเก๊นั้นเป็นพระแท้ที่ผ่านตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์มาแล้ว ซึ่งเป็นการเข้าใจผิดอย่างสิ้นเชิง
2.ต้องมีความรู้พื้นฐานและความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเทคนิคและวิธีการตรวจสอบตัวอย่างวัตถุว่าเทคนิคและวิธีการแต่ละอย่างใช้ตรวจสอบหาอะไร ผลการทดลองที่ได้บอกอะไรและอธิบายอะไรเกี่ยวกับตัวอย่างวัตถุที่นำมาทดลอง และถ้าหากไม่มีความรู้พื้นฐานและความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเทคนิคและวิธีการตรวจสอบแล้วก็ สุดท้ายจะกลายเป็นพวกหลงทางเข้าป่าเข้าดงลงห้วยลงหนองออกทะเลอย่างแน่นอน เพราะเข้าใจอะไรที่ผิดๆเห็นตัวอย่างวัตถุใดที่ผ่านตรวจสอบก็เข้าใจว่าเครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคนิคขั้นสูงต่างๆคือคำตอบที่ดีที่สุดในการพิสูจน์พระเครื่องว่าเป็นพระแท้ พระเก๊ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดๆของคนที่ไม่รู้ความด้านวิทยาศาสตร์
3. เครื่องมือและเทคนิคการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ไม่สามารถรายงานผลการทดลองตัวอย่างวัตถุว่าเป็น "พระแท้หรือพระเก๊" ได้ แต่เราสามารถนำข้อมูลทั้งหมดที่ได้จากการทดลองมาวิเคราะห์เพื่อพิสูจน์สมมุติฐานเกี่ยวกับตัวอย่างวัตถุว่าเป็นอย่างไรได้
4.เอาพระนาดูนเก๊ไปตรวจด้วยเครื่องมือวิทยาศาสตร์ ผลการทดลองที่ได้ไม่อาจทำให้ พระนาดูนเก๊กลายเป็นพระกรุนาดูนแท้ได้
5. อย่าอ้างเครื่องมือวิทยาศาสตร์และรายงานผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์มานำเสนอโดยไม่จำเป็น ถ้าหากไม่มีความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ไม่งั้นก็ไม่ต่างอะไรกับพวกลิเกหลงโรงขึ้นไปร้องลิเกบนเวทีหมอลำ เดี๋ยวคนดูเขาจะโห่ไล่เอา
วิทยาศาสตร์ไม่ใช่วิชาที่จะเรียนรู้ด้วยวิธีการครูพักลักจำ เพราะเป็นวิชาสากลที่ทั่วโลกเขาเรียนรู้ในเนื้อหาและหลักการเดียวกัน ถ้าคุยกับคนที่มีความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ จะคุยเป็นภาษาเดียวกัน แต่ถ้าคนที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องวิทยาศาสตร์อย่างถ่องแท้แต่กลับเอาวิทยาศาสตร์มาคุยกับคนที่รู้เรื่องวิทยาศาสตร์ คนพวกนั้นก็จะเป็นแค่พวกมโน ที่คิดเอง เออเอง เข้าใจเอง แล้วออกมาอวดฉลาดแสดงความคิดเห็นต่างๆเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ทั้งที่ความจริงแล้วเป็นพวกประเภทที่ไม่รู้จักว่าตัวเองโง่ไม่รู้เรื่องแต่กลับอวดฉลาดในสิ่งที่ตัวเองไม่มีความรู้จริง ชัดเจนตรงประเด็นนะครับ
ผู้เรียบเรียง : เศรษฐศาสตร์ อินทรพานิชย์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น